; อาหารบำบัด ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post COVID-19 Syndrome -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

อาหารบำบัด ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post COVID-19 Syndrome



        ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post COVID-19 Syndrome คือภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ ซึ่งอาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30 - 50 % จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง

ดังนั้น ผู้ป่วยลองโควิด-19 ควรปฏิบัติตัวดังนี้

1.  ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

2.  สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของตนเองอยู่เสมอ ดังนี้
     2.1  การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่
     2.2  อาหารที่ปรุงสุก สะอาด
     2.3  เป็นอาหารย่อยง่าย เนื่องจากอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
     2.4  หากมีอาการเบื่ออาหาร ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ หลาย ๆ มื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตลอดวัน ไม่ให้ร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย
     2.5  ควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้
     2.6  อาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ได้แก่ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โดยควรเลือกชนิดที่มีน้ำตาลน้อย
     2.7  อาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม เป็นต้น เพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์สุขภาพและยังช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
     2.8  หลีกเลี่ยงอาหารประเภท Junk Food อาทิ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด ย่อยยาก งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาหารเหล่านี้มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง



ทั้งนี้ วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ 
ก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู แข็งแรง และสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่

1.  วิตามินซี :  พบมากในผักและผลไม้สด เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง มะนาว มะเขือเทศ พริกหวาน เป็นต้น  ควรกินแบบสด หากนึ่งหรือผัด ควรใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษาคุณค่าจากวิตามินซีไว้ได้ดียิ่งขึ้น


2.  วิตามินเอ : เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและสีส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง มะละกอสุก เป็นต้น

3.  วิตามินดี : ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม เห็ด ไข่แดง เป็นต้น

4.  วิตามินอี : ได้แก่ ไข่ ผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น ถั่วต่าง ๆ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน อะโวคาโด เป็นต้น

        นอกจากนี้ ผู้ป่วยลองโควิด-19 ควรสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีอาการแย่ลง ควรรีบกลับมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาต่อไป

ตัวอย่างเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยลองโควิด-19



        มื้อเช้า  :  ** ข้าวต้มหมูทรงเครื่อง 
                             - เพิ่มกากใยอาหาร วิตามินบีจากข้าวกล้อง
                        ** ไข่ต้ม ส้ม นมเปรี้ยว
                             - เพิ่มกากใยอาหาร วิตามินซีจากส้มเขียวหวาน
                             - เพิ่มโปรตีนจากเนื้อหมู ไข่ไก่
                             - เพิ่มจุลินทรีย์สุขภาพจากนมเปรี้ยว

        ว่างมื้อเช้า : ** น้ำมะนาวน้ำผึ้งร้อน
                                 - เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกันและบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ

        มื้อเที่ยง : ** ข้าวหมกไก่
                              - เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบและเสริมภูมิคุ้มกันจากขมิ้น
                              - เพิ่มโปรตีนจากเนื้อไก่
                         ** สลัดผัก
                              - เพิ่มกากใยอาหาร วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี จากผักต่าง ๆ พริกหยวก

         ว่างมื้อบ่าย : ** ฝรั่ง
                                  - เพิ่มวิตามินซี กากใยอาหาร

         มื้อเย็น : ** ข้าวกล้อง
                            - เพิ่มกากใยอาหาร วิตามินบีจากข้าวกล้อง
                       ** ปลาทับทิมนึ่งมะนาว, แกงเลียงกุ้งสด, ผัดคะน้าหมูหมัก, มะละกอ
                            - เพิ่มโปรตีนจกาเนื้อหมู เนื้อปลา กุ้งสด
                            - เพิ่มวิตามินซีจากมะนาว มะละกอ
                            - เพิ่มวิตามินดี กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันจากเห็ด
                            - เพิ่มวิตามินเอ บำรุงสายตาและการมองเห็นจากผักใบเขียว ฟักทอง

         ก่อนนอน : ** นมธัญพืช
                                - เพิ่มโปรตีนคุณภาพ